1. Advice
  2. ซื้อบ้านในไทย: คำแนะนำในการซื้อบ้าน
  3. ซื้อบ้านในไทย: ทำไมต้องซื้อบ้านในไทย?
  4. โฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินมีความแตกต่างกันอย่างไร?

โฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินมีความแตกต่างกันอย่างไร?

KaiBaanThai
โดย KaiBaanThai
Niratchaphon Parnchoem
แก้ไขโดย Niratchaphon Parnchoem
โฉนดที่ดินมีกี่แบบ

ที่ดินนับเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามีราคาในตัวเองและมีประโยชน์อย่างมากในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น เป็นที่อยู่อาศัย, แหล่งประกอบอาชีพ, เป็นหลักประกันสินทรัพย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเอกสารสิทธิที่ดินประเภทต่าง ๆ มีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเอกสารแต่ละประเภทให้สิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่แตกต่างกัน บางประเภทอาจมีข้อจำกัดและข้อบังคับบางประการด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อคุณมีความคุ้นเคยและมีความรู้เพียงพอเกี่ยวกับเอกสารสิทธิที่ดินแต่ละประเภทอย่างดีแล้ว จะช่วยให้คุณสามารถพิจารณาโอกาสทางการลงทุนที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามารถปกป้องสิทธิ์ของคุณในฐานะเจ้าของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ได้อีกด้วย

โฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินในไทยมีคุณสมบัติและข้อจำกัดอย่างไร?

ประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดิน

คุณสมบัติที่สำคัญ

หมายเหตุและข้อบังคับ

ส.ค. 1

  • มีคุณสมบัติเป็น “แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน” ยังไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ที่ดินอย่างเป็นทางการ
  • เป็นเพียงการแจ้งว่าผู้ครอบครองเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใดอยู่
  • สามารถอัพเกรดเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่มีความรัดกุมทางกฎหมายมากขึ้นได้ (น.ส. 3 และ น.ส. 3 ก.)
  • โอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่ผู้ครอบครองต้องแสดงหลักฐานการส่งมอบเอกสารอย่างชัดเจน

น.ส. 2

  • มีคุณสมบัติเป็น “ใบจอง” เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
  • เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินชั่วคราวเท่านั้น
  • ให้สิทธิ์เจ้าของที่ดินเพื่อการใช้งานและครอบครองที่ดินเท่านั้น
  • จดทะเบียนกับนายอำเภอท้องที่
  • อนุญาตให้เจ้าของที่ดินใช้และครอบครองที่ดินเท่านั้น ไม่สามารถทำการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยเอกสารสิทธิ์ฉบับนี้ได้
  • มีเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เมื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขก็จะสามารถขอออกเป็น น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก. ได้

น.ส. 3 ตราครุฑสีดำ

  • มีคุณสมบัติเป็น “หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน” ที่ได้รับการอัพเกรดจาก น.ส. 2
  • มีความรัดกุมทางกฎหมายน้อยกว่าโฉนด (น.ส. 4) หรือ น.ส.3 ก.
  • ออกให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินแบบทั่วไป การแบ่งเขตแดนมีความไม่แน่นอน ซึ่งจะไม่ชัดเจนเท่าเอกสารสิทธิ์ 2 ประเภทแรก
  • ระบุเพียงรูปร่างที่ดินแบบลอย และจะได้รับการรับรองจากนายอำเภอท้องที่เท่านั้น
  • สามารถอัพเกรดเป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่มีความรัดกุมทางกฎหมายมากขึ้นได้
  • มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินประเภทอื่น ๆ
  • ไม่สามารถใช้เพื่อซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ได้
  • อาจมีความคลาดเคลื่อนในการระบุเขตแดนและขนาดของที่ดินได้

น.ส. 3 ก. ตราครุฑสีเขียว

  • มีคุณสมบัติเป็น “การรับรองสิทธิครอบครองในที่ดิน” 
  • มีลักษณะคล้ายโฉนด (น.ส. 4) แต่ไม่มีการแบ่งเขตที่ชัดเจน ยังไม่ใช่โฉนดฉบับจริง
  • ใช้ภาพถ่ายทางอากาศในการระบุเขตแดน
  • ออกโดยนายอำเภอท้องที่
  • สามารถอัพเกรดเป็นโฉนดที่ดิน (น.ส. 4) ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
  • ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายที่ค่อนข้างเข้มงวด
  • การแบ่งเขตแดนด้วยภาพถ่ายทางอากาศอาจทำให้การแบ่งเขตแดนมีความคลาดเคลื่อนได้

น.ส. 5

  • มีคุณสมบัติเป็น “ใบไต่สวน” ออกเพื่อแจ้งให้ทราบว่าที่ดินผืนนี้ได้มีการสอบสวนสิทธิ์ในที่ดินเรียบร้อยแล้ว
  • ไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์
  • รับรองจากนายอำเภอท้องที่เท่านั้น
  • สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้กันได้ แต่ต้องแสดงเอกสารฉบับนี้พร้อมกับ น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก.
  • หากไม่มีหลักฐานอื่นใดที่แสดงถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และนายอำเภอท้องที่ยังไม่ได้ทำการรองรับผลประโยชน์จะไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ใด ๆ ได้ ยกเว้นโอนเป็นมรดกเท่านั้น

อ.ช. 2

  • เป็นเอกสารสิทธิ์การครอบครองอสังหาริมทรัพย์ประเภทห้องชุด หรือคอนโดมิเนียม
  • มีคุณสมบัติคล้ายกับโฉนดที่ดิน เป็นหลักฐานในการระบุความเป็นเจ้าของที่จะบอกรายละเอียดสำคัญไว้ เช่น ตำแหน่งที่ตั้งของอาคาร, เลขชั้น, เลขลำดับห้อง, แผนผังภายในห้อง, ขนาดพื้นที่ใช้สอย, ความสูงจากพื้นถึงเพดานห้อง และอื่น ๆ
  • มีความแตกต่างกับโฉนด เนื่องจากในสัญญาซื้อขายห้องชุดจะมีการระบุไว้ว่า ผู้ครอบครองห้องชุดเป็นเจ้าของร่วมกับโครงการนั้น ๆ
  • การโอนกรรมสิทธิ์จะสามารถดำเนินการได้หลังจากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ
  • หากกู้ธนาคารชื่อในเอกสารสิทธิ์จะเป็นชื่อธนาคาร แต่ถ้าซื้อด้วยเงินสดก็จะจดกรรมสิทธิ์เป็นชื่อของเจ้าของได้เลย

โฉนด (น.ส. 4)

ตราครุฑสีแดง

  • เป็นหนังสือสำคัญที่ใช้แสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายปัจจุบัน
  • ผู้ครอบครองที่ดินมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างสมบูรณ์
  • ระวางขนาดที่ดินได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด, พิกัดดาวเทียม GPS และเครื่องหมายแบ่งเขตแดนที่ชัดเจน
  • สามารถซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
  • มีสิทธิ์ขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นมาข้องเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายที่รัดกุมและเข้มงวด
  • ใช้เป็นหลักฐานในการแสดงสินทรัพย์และเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อได้

 

โฉนดที่ดินระบุรายละเอียดอะไรบ้าง?

โฉนดที่ดินมี 2 หน้าโดยจะมีการระบุรายละเอียดทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเอกสาร ซึ่งด้านหน้าของเอกสารจะทำการระบุรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

โฉนดที่ดินมีกี่แบบ

ด้านหน้าโฉนดที่ดิน

  1. ตำแหน่งที่ดิน ประกอบด้วย เลขระวาง, เลขที่ดิน, หน้าสำรวจ และตำบล
  2. เลขโฉนดที่ดิน ประกอบด้วย ลำดับเล่ม, ลำดับหน้า, อำเภอ และจังหวัด
  3. ระบุชื่อและข้อมูลที่อยู่ของผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเป็นคนแรก
  4. ขนาดที่ดิน (ไร่-งาน-ตารางวา)
  5. รูปแบบแผนที่ ประกอบด้วย มตราส่วนระวาง, มาตราส่วนการวาดแผนที่, ภาพลักษณะของที่ดิน และทิศของที่ดิน
  6. วันที่ออกโฉนด ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานที่ดินจะทำการออกเอกสารสิทธิ์นี้ โดยสามารถคำนวณอายุของที่ดินแปลงนี้ได้จากวันที่ดังกล่าว

โฉนดที่ดินด้านหลัง

ด้านหลังโฉนดที่ดิน

เป็นส่วนของสารบัญการจดทะเบียน ซึ่งมีความสำคัญต่อการซื้อขาย โอนมรดก จำนอง ให้ หรืออื่น ๆ หากต้องการทราบว่าเจ้าของโฉนดเคยจดนิติกรรมใดมาแล้วบ้างก็สามารถอ่านได้จากส่วนนี้ ได้แก่

  1. วันที่จดทะเบียน ระบุวัน เดือน ปี
  2. ประเภทการจดทะเบียน ซึ่งจะระบุนิติกรรมที่เจ้าของโฉนดเคยได้จดทะเบียนไว้ในวันเวลาดังกล่าว
  3. ผู้ให้สัญญา
  4. ผู้รับสัญญา
  5. เนื้อที่ดินตามสัญญา ที่ใช้ในการจดนิติกรรม ซึ่งอาจการจดนิติกรรมประเภทต่าง ๆ สามารถจดแค่บางส่วนของเนื้อที่ดินหรือทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของโฉนด
  6. เนื้อที่ดินคงเหลือ ในกรณีที่เจ้าของโฉนดได้นำที่ดินไปจดนิติกรรมโดยใช้เนื้อที่ดินเพียงบางส่วนเท่านั้น อาจเป็นการแบ่งแยกที่เป็นออกเป็นหลายแปลง
  7. เลขระวางโฉนดที่ดินใหม่ ในกรณีที่มีการแบ่งแยกที่ดินเป็นหลายแปลง จะมีการระบุเลขระวางใหม่เพื่อใช้อ้างอิงในการสืบค้นของเอกสารราชการว่าแบ่งออกไปเพื่อออกโฉนดที่ดินเลขที่เท่าใด
  8. การลงลายมือชื่อและประทับตราของพนักงานที่ดิน

ข้อควรพิจารณาต่อโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิ์ที่ดินบางฉบับ

แม้ว่าเอกสารสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทยบางฉบับจะให้สิทธิประโยชน์ในทางกฎหมายมากกว่าเอกสารแสดงสิทธิ์ฉบับอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตามผู้ครอบครองที่ดินจะต้องตระหนักถึงกฎระเบียบบางประการที่อาจส่งผลต่อการถือครองที่ดินด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นการบำรุงรักษาที่ดินและการใช้ประโยชน์บนที่ดินที่มีเอกสารสำคัญอยู่แล้วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ครอบครองและไม่ให้เสียกรรมสิทธิ์ไป ซึ่งที่ดินสามารถกลายเป็นมรดกอันมีค่าสำหรับทายาทและยังคงสร้างประโยชน์ให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้

จากข้อมูลข้างต้นช่วยให้การทำความเข้าใจในเรื่องโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธฺ์ที่ดินประเภทต่าง ๆ เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญสำหรับเอกสารดังกล่าวคือการอ่านขนาดที่ดินที่ระบุในเอกสารได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในเอกสารทุกฉบับจะระบุขนาดเนื้อที่ดินเป็นหน่วย ไร่-งาน-ตารางวา ดังนั้นจึงควรรู้ว่าการขนาดที่ดินแต่ละหน่วยมีความแตกต่างและความสำคัญอย่างไรด้วยเช่นกัน เพื่อการรักษาสิทธิ์และสามารถเอื้อประโยชน์ต่อที่ดินของคุณเองได้อีกด้วย

บทความก่อนหน้า
1 ไร่มีกี่ตารางวา? เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับหน่วยวัดขนาดที่ดินในไทย
บทความถัดไป
8 เทคโนโลยีพลิกโฉมเทรนด์อสังหาริมทรัพย์ 2023
  • Fazwaz Group Sites www.fazwaz.cn www.fazwaz.ru www.fazwaz.fr www.fazwaz.de www.fazwaz.es